วันอังคารที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2553

ซอฟต์แวร์พาร์ค แจ้งเกิดช่องทีวี-ปิ๊งรายการ 3มิติที่แรก

ซอฟต์แวร์พาร์ค คลอดรายการทีวี ซอฟต์แวร์พาร์คแชนแนล อาศัยเคเบิลและอินเทอร์เน็ตทีวี สร้างแบรนด์ซอฟต์แวร์ไทย ยิงสดผ่านเน็ต ใช้เฟซบุ๊กเป็นช่องทาง หวังดึงผู้ประกอบร่วมธุรกิจ พร้อมโชว์เทคโนโลยี 3 มิติ ฝีมือคนไทยทำต้นแบบรายการ...

9 ก.ย. นางสุวิภา วรรณสาธพ ผู้อำนวยการเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย หรือ ซอฟต์แวร์พาร์ค กล่าวว่า ขณะนี้ ซอฟต์แวร์พาร์คได้จัดทำโครงการสร้างสื่อใหม่ให้กับธุรกิจซอฟต์แวร์ไทย โดยเปิดช่องทางใหม่คือ รายการเคเบิลทีวี และอินเทอร์เน็ตทีวี ชื่อรายการซอฟต์แวร์พาร์ค แชนแนล (Software Park Channel) ทั้งนี้ การสร้างรายการทีวีของซอฟต์แวร์พาร์ค จะเป็นการจัดทำรายการทีวีที่เน้นประสิทธิภาพสูงแต่ต้นทุนต่ำ โดยใช้เทคโนโลยีมาช่วย เนื้อหาจะเน้นการแสดงถึงศักยภาพของซอฟต์แวร์ไทยโดยตรง โดยเริ่มออกอากาศครั้งแรกเมื่อวันที่ 8 มิ.ย.ที่ผ่านมา


ผู้อำนวยการซอฟต์แวร์พาร์ค กล่าวต่อว่า การทำสื่อใหม่ให้กับธุรกิจนี้ ยังดึงเฟซบุ๊ก ซึ่งเป็นช่องทางจากโซเชียล เน็ตเวิร์คกิ้งเข้ามาใช้ประโยชน์ และช่วยประชาสัมพันธ์สิ่งที่กำลังดำเนินการอยู่ให้เข้มแข็งได้ เนื่องจากพบว่า ขณะนี้ยอดผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยมีจำนวน 16.8 ล้านคน หรือคิดเป็น 20% ของประชาชนในประเทศ และมีผู้ใช้มือถือจำนวน 61 ล้านคน จึงเป็นช่องทางที่มีประสิทธิภาพสูง นอกจากนี้ยังสามารถเรียนรู้พฤติกรรมของผู้บริโภคไปด้วย โดยที่ผู้บริโภคไม่รู้สึกว่าโดนล้วงข้อมูล ขณะเดียวกัน ก็สามารถสอดแทรกเข้ามาเพี่อเป็นการตอบโจทย์ธุรกิจได้ตรงกลุ่มเป้าหมายด้วย

“จุดสำคัญที่ก่อให้เกิดรายการนี้ขึ้นมาคือ ความร่วมมือกันทั้งจากซอฟต์แวร์พาร์ค บริษัท แอ็บโซลูท-เอ อันเป็นสื่อและผู้ทำธุรกิจซอฟต์แวร์ รวมถึงบริษัท ไอเอสแอลที ที่ไปคว้ารางวัลระดับนานาชาติทางด้านซอฟต์แวร์สำหรับสื่อ จะทำให้ซอฟต์แวร์พาร์ค แชนแนล เป็นรายการที่ลงตัว และสามารถรองรับเนื้อหาที่เกี่ยวกับซอฟต์แวร์ไทยได้อย่างดี” นางสุวิภา กล่าว

ผู้อำนวยการซอฟต์แวร์พาร์ค กล่าวด้วยว่า สิ่งที่เกิดขึ้นจะเป็นประโยชน์ของทั้งวงการคือ ทางซอฟต์แวร์พาร์คจะมีรายการซอฟต์แวร์ที่เป็นที่สนใจของประชาชน และได้โปรโมทวงการซอฟต์แวร์ไทยอย่างเต็มที่ ส่วนทางบริษัทก็จะเป็นกลุ่มผู้ผลิตรายการรายแรกๆ ของเมืองไทยที่ได้ทดลองใช้เทคโนโลยีนี้ออกอากาศ และมีความเชี่ยวชาญการสร้างรายการ 3 มิติ ในต้นทุนต่ำ มีโอกาสในการสร้างฐานลูกค้ากลุ่มนี้ให้เกิดมากขึ้นในประเทศ

ด้านนายสุนทร เกียรติธนากร กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอ็บโซลูท-เอ กล่าวว่า จุดมุ่งหมายของการเข้ามาทำรายการดังกล่าว คือต้องการเป็นตัวจุดประกายให้เกิดช่องรายการที่เป็นรายการทางด้านซอฟต์แวร์อย่างจริงจังเกิดขึ้น ปัจจุบันช่องรายการทีวีใหม่ๆ เกิดง่ายแต่มักจะเน้นรายการที่เป็นบันเทิง และเป็นรายการที่เป็นช่ององค์กรมากขึ้น โดยจากกระแสข่าวมีแนวโน้มจะเกิดช่องรายการที่เป็นไอทีขึ้น แต่ยังต้องใช้เวลาและการใช้เนื้อหาอย่างมาก

สำหรับรายการนี้ เป็นรายการต้นแบบ เพื่อจะนำไปสู่การเป็นช่องรายการขนาดใหญ่ต่อไป ทางบริษัทจะรับผิดชอบทางด้านการถ่ายทำทั้งหมด โดยแบ่งช่วงรายการออกเป็น 4 ช่วงๆ ละ 10 นาที ในช่วงแรกจะเป็นการปูพื้น หรือที่มาของบริษัทซอฟต์แวร์ หรือตัวซอฟต์แวร์นั้นๆ ช่วง 2 จะเน้นให้ข้อมูลเกี่ยวกับคุณสมบัติพิเศษที่โดดเด่นของตัวซอฟต์แวร์ ช่วง 3 จะเน้นเรื่องการตลาดและประสบการณ์ที่ติดตั้งให้กับลูกค้าองค์กรต่างๆ และช่วง 4 จะเน้นเรื่องการวิจัย และพัฒนาตัวซอฟต์แวร์ตัวนั้น หรือซอฟต์แวร์ตัวใหม่ของบริษัทซอฟต์แวร์ที่มาออกรายการ โดยอยู่ในรูปแบบการนั่งโต๊ะพูดคุย และใช้พิธีกรที่มีความคุ้นเคยกับวงการซอฟต์แวร์เป็นคนสร้างสีสัน ผ่านการถ่ายทอดสดผ่านเว็บไซต์
http://Knowhow.swpark.or.th ทุกวันพุธ 10.30 น. และเทปจะถูกตัดทอนเข้าไปในช่องทางรายการหลักซอฟต์แวร์พาร์ค แชนแนล ต่อไป

อย่างไรก็ตาม รายการซอฟต์แวร์พาร์ค แชนแนล ได้จัดทำรายการไปแล้วจำนวน 15 ตอน ออกอากาศที่ช่อง TCNN (Thai Cable News Network) ทุกวันอาทิตย์ เวลา 11:05-12:00 น. ไปแล้วจำนวน 10 ตอน รายละเอียดการผลิตของซอฟต์แวร์พาร์ค แชนแนล คือ จะผลิตเบื้องต้น 52 ตอน หรือจำนวนออกอากาศอาทิตย์ละ 40 นาที เป็นเวลา 1 ปี หลังจากนั้นจะมีการวิเคราะห์และปรับทิศทางตามสถานการณ์ของเทคโนโลยีต่อไป

ด้านนายณัฐ รองสวัสดิ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเชีย บรอดคาสติ้ง เทเลวิชั่น จำกัด กล่าวว่า การเปิดยุทธศาสตร์การนำเสนอรายการของเคเบิลทีวี ขณะนี้ ประเทศไทยยังล้มเหลวเรื่องบรอดคาส เพราะเข้าใจแตกต่างกัน เนื่องจากการนำเสนอไม่มีการพูดที่ชัดเจน ทั้งนี้คนที่จะทำตลาดต้องเข้าใจเรื่องนิวส์ มีเดีย และสร้างสรรค์ผลงานการผลิตเจาะกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้เกิดช่องทางที่หลากหลาย นอกจากนี้ ยังต้องรวมการสื่อสารเข้ากับการพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย นอกจากนี้ วิธีคิดของผู้บริหารต้องเปิดกว้าง ไม่ปกป้อง คุ้มครอง แต่เปิดกว้างให้เอกชนคิดเหมือนกับต่างประเทศที่เปิดให้ผู้มีความสามารถแสดงออกอย่างเสรี

นายจักรกฤษณ์ ทัฬหชาติโยธิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอเอสแอลที จำกัด กล่าวว่า หลังจากที่ได้รับรางวัล APICTA (Asia Pacific ICT Award) เมื่อปี 2552 ที่ผ่านมา ทางบริษัทได้นำผลงานซอฟต์แวร์ 3 มิติ บรอดแคสติ้ง (3D Broadcasting) มาพัฒนาจนสามารถเข้าสู่เชิงพาณิชย์ได้ โดยคุณสมบัติสำคัญโปรแกรมนี้คือ การถ่ายทอดสดคนใส่เข้าไปในโลกสามมิติจริง โดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์ราคาแพง ด้วยการใช้ 3D บาร์โค๊ดมาช่วยจับตำแหน่ง และประมวลผลแบบเรียลไทม์ ทำให้ไม่จำเป็นต้องใช้ต้นทุนการผลิตที่แพงเหมือนอดีต และผู้ผลิตรายการสามารถเปลี่ยนฉากได้อย่างง่าย ลดต้นทุนด้านอุปกรณ์ด้วย



ข่าวจาก : ไทยรัฐ
วันที่ : 10 กันยายน 2553

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น