วันอังคารที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2553

โน้ตบุ๊กแข่งดุเปิดเกมชิงมาร์เก็ตแชร์ "โตชิบา-เดลล์-ซัมซุง"เครื่องแรงเบียด"เอชพี"ตก

ตลาดโน้ตบุ๊กแข่งเดือด หลังผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาแย่งเค้กเพิ่มขึ้น สร้างความกดดันให้กับแบรนด์ผู้นำอย่าง "เอเซอร์และเอชพี" เปิดตัวเลข "ไอดีซี" ไตรมาส 2 ส่วนแบ่งตลาด "เอชพี" ตกลงมาอยู่ที่ 19% จากปีที่แล้วอยู่ที่ 30% ขณะที่ "ซัมซุง" มาแรง รั้งอันดับ 6 ของตลาดด้วยแชร์ 7.2% หลังเพิ่งเข้ามาทำตลาดเพียงปีเดียว ฟาก "โตชิบา" ยอมรับศึกหนัก ทุกค่ายพยายามช่วงชิงตำแหน่งที่ 3 ด้าน "เดลล์" ชูการทำตลาดผ่านโซเชียลมีเดีย พร้อมส่งรุ่น 15,900 บาท บุกตลาดต่างจังหวัด

แหล่งข่าวจากวงการคอมพิวเตอร์เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า จากที่บริษัท ไอดีซีได้เปิดเผยข้อมูลตลาดคอมพิวเตอร์ไตรมาส 2 ที่ผ่านมา พบว่าช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ตลาดรวมพีซีและโน้ตบุ๊กรวมอยู่ที่ 1.6 ล้านเครื่อง และประเมินว่าทั้งปีจะอยู่ที่ 3 ล้านเครื่อง โดยจะเป็นสัดส่วนของตลาดโน้ตบุ๊ก 1.8 ล้านเครื่อง และเดสก์ทอป 1.2 ล้านเครื่อง ในส่วนของตลาดโน้ตบุ๊ก ซึ่งเป็นตลาดที่มีการเติบโตกว่า 20% อย่างต่อเนื่อง ในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา เอเซอร์ยังคงส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 ด้วยส่วนแบ่งตลาด 34% ขณะที่อันดับ 2 แม้ว่าจะยังคงเป็นของฮิวเลตต์-แพคการ์ด (เอชพี) แต่ด้วยส่วนแบ่งตลาดที่ลดลงเหลือเพียง 19% อันดับ 3 เป็นของโตชิบา ด้วยส่วนแบ่งตลาด 8.5%

สำหรับกรณีของเอชพีนั้น ถือว่ามีส่วนแบ่งตลาดที่มีการปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง จากเมื่อต้นปี 2552 อยู่ที่ประมาณ 30% ซึ่งมีการปรับลดลงต่อเนื่อง จนเมื่อไตรมาส 4 ของปีที่แล้วลดลงมาอยู่ที่ 23% ส่วนหนึ่งอาจเป็นปัญหาในเรื่องการบริหารจัดการสินค้า ที่ไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของ ผู้บริโภคได้ทันท่วงที



ขณะที่น้องใหม่อย่างเดลล์ ซึ่งเพิ่งเข้ามาทำตลาดคอนซูเมอร์เมื่อช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ก็ขยับขึ้นมาอยู่อันดับ 4 ด้วยส่วนแบ่งตลาด 8.1% รวมทั้งซัมซุงถือว่าเป็นน้องใหม่ในตลาดคอมพิวเตอร์เมืองไทย เพิ่งเข้ามาทำตลาดโน้ตบุ๊กเพียง 1 ปีเท่านั้น อย่างไรก็ตาม สินค้าที่เข้ามาทำตลาดของซัมซุง ส่วนใหญ่จะเป็นเน็ตบุ๊ก ซึ่งมีระดับราคาหมื่นต้น ๆ แม้ว่าจะมีมาร์เก็ตแชร์ในเชิงยูนิตมาก แต่ในแง่มูลค่าก็ไม่มาก ขณะที่อัสซุสอยู่ที่อันดับ 5 ด้วยส่วนแบ่งตลาด 7.7% และเลอโนโว 6.5% เรียกว่ากลุ่มแบรนด์รอง ๆ มีมาร์เก็ตแชร์ขยับเพิ่มกันทั้งสิ้น

นายกฤตวิทย์ กฤตยเรืองโรจน์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด กลุ่มคอนซูเมอร์ ประจำภาคพื้นเอเชียใต้ บริษัท เดลล์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า ช่วงครึ่งปีแรก เดลล์มี ยอดขายติดอันดับ 1 ใน 3 ของตลาดพีซีและโน๊ตบุ๊กสำหรับกลุ่มคอนซูเมอร์ แต่ผู้เล่นในตลาดคอมพิวเตอร์อันดับที่ 3-5 ของตลาดมีส่วนแบ่งการตลาดเกาะกลุ่มกันมาก ส่วนใหญ่เน้นการแข่งขันด้านราคา การทำโปรโมชั่น และการให้อินเซนทีฟแก่ ผู้ขายหน้าร้านเป็นหลัก แต่สิ่งที่เดลล์ทำ คือการทำแคมเปญสร้างการรับรู้ในแบรนด์มากขึ้น การทำโปรโมชั่นอย่างต่อเนื่อง มีสินค้าทุกเซ็กเมนต์ รวมถึงการขยายช่องทางจำหน่ายครอบคลุม

โดยมีแผนเปิดคอนเซ็ปต์สโตร์อีก 3 แห่ง ภาคอีสาน 2 แห่ง และในกรุงเทพฯ ที่พาราไดซ์ พาร์ค จากปัจจุบันมีคอนเซ็ปต์สโตร์ทั้งหมด 7 แห่ง ใน กทม. เชียงใหม่ ระยอง และภูเก็ต และมการขยายตัวแทนจำหน่ายเพาเวอร์บาย และไอทีซิตี้เพิ่ม

และจากที่ตลาดต่างจังหวัดมีการเติบโตทำให้เดลล์ผลักดันตลาดต่างจังหวัดมากขึ้น โดยมีสินค้ารุ่นเอนทรีออกมารองรับ โดยล่าสุด เดลล์เปิดตัวโน้ตบุ๊ก 2 รุ่น คือ Dell Inspiron N4030 ขนาด 14 นิ้ว ราคา 15,990 บาท เจาะกลุ่มผู้ใช้งานครั้งแรก และรุ่น M301Z ซีพียู AMD Low Voltage เน้นการใช้งานบางเบา ราคา 21,990 บาท

"จุดต่างของเดลล์ในการแข่งขันกับแบรนด์อื่น ๆ คือการใช้กลยุทธ์การทำตลาดผ่านเครือข่ายสังคม เพื่อสร้างแบรนด์ และจุดเด่นด้านออนไซต์เซอร์วิสภายใน 1 วัน "

ตั้งแต่ปลายไตรมาส 3 ถึงสิ้นปี เดลล์จะเน้นการใช้กลยุทธ์การทำตลาดผ่านเครือข่ายสังคมเป็นหลัก เพื่อเจาะตลาดคอนซูเมอร์ โดยบริษัทได้จัดสรรงบประมาณเพื่อใช้สำหรับสื่อออนไลน์โดยเฉพาะ ในสัดส่วนที่มากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา โดยล่าสุด เดลล์จัดแคมเปญ "เดลล์ท้าสมองประลองกึ๋น" ให้ผู้สนใจและแฟนคลับเดลล์ค้นหา QR Code ตามสื่อโฆษณาต่าง ๆ และร่วมตอบคำถาม เพื่อรับโน้ตบุ๊กเดลล์ Inspiron N4010 ตั้งแต่ ก.ย.-พ.ย. 2553 เพื่อเพิ่มจำนวนแฟนเพจเฟซบุ๊ก จากปัจจุบันที่มีจำนวน 1.7 หมื่นราย และสามารถเข้าถึงลูกค้าที่สนใจสินค้าของเดลล์มากขึ้น

นายถกล นิยมไทย ผู้จัดการฝ่ายธุรกิจไอที บริษัท โตชิบา ไทยแลนด์ จำกัด กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ผลจากการที่มีผู้เล่นหน้าใหม่เพิ่มเข้ามาในตลาดโน้ตบุ๊ก ก็ทำให้ภาพรวมของตลาดเปลี่ยนไปจากอดีต เอเซอร์และเอชพี 2 รายนี้รวมกันจะมีมาร์เก็ตแชร์กว่า 70% แต่ปัจจุบัน 2 แบรนด์รวมกันแค่ 50% กว่าเท่านั้น ขณะที่กลุ่มแบรนด์รอง ๆ ก็แข็งแกร่งและเข้ามามีบทบาทในตลาดมากขึ้น ทำให้เกิดการแย่งมาร์เก็ตแชร์จากผู้นำตลาด

เนื่องจากตลาดโน้ตบุ๊กเมืองไทยมีอัตราการเติบโตที่น่าสนใจ ทำให้บริษัทแม่ให้ ความสำคัญกับการทำตลาดมากขึ้น ซึ่งหมายถึงเม็ดเงินและการสนับสนุนนโยบายการตลาดต่าง ๆ ทำให้การทำตลาดของ โตชิบาในประเทศไทยตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคและสามารถแข่งขันกับตลาดได้

"ในส่วนของโตชิบาก็ต้องพยายามรักษาอันดับ 3 ไว้ เพราะต้องยอมรับว่าในตลาดอันดับ 3-7 นั้นมีส่วนแบ่งตลาดต่างกัน ไม่มาก ทำให้ในแต่ละไตรมาสก็มีการสลับตำแหน่งกัน ซึ่งทุกแบรนด์พยายามที่จะขึ้นชิงที่ 3 เพราะโอกาสในการขยับขึ้นไปอันดับ 2 นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ขณะที่ในส่วนผู้นำอันดับ 1และ 2 ก็ต้องพยายามรักษามาร์เก็ตแชร์ไม่ให้ตก เรียกว่าเหนื่อยและหนักกันทุกแบรนด์" นายถกลกล่าว

อย่างไรก็ตาม ในแง่ของบริษัท ก็ต้องพยายามรักษาโมเมนตัมในการทำตลาด ซึ่งต้องพยายามทำให้ต่อเนื่องและครบเครื่อง ทั้งในแง่ของโปรดักต์ที่เข้าตอบโจทย์ให้ครอบคลุมทุกเซ็กเมนต์ รวมถึงการพัฒนาในแง่ช่องทางการจัดจำหน่าย ซึ่งในส่วนนี้ โตชิบาก็อาจจะยังขาดอยู่บ้าง เพราะยังไม่ได้เข้าในกลุ่มดิสเคานต์สโตร์ ขณะที่คู่แข่งส่วนใหญ่ก็เข้าไปหมดแล้ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น